เงินเฟ้อสเปน 1

ทุกวันนี้เจอแต่ข่าวของแพง เงินเฟ้อกันทั่วโลก ราคาสินค้าพุ่งแรงในรอบหลายปี จะเติมน้ำมันแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีก แต่วิกฤตการณ์เงินเฟ้อไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปหลายศตวรรษ วิกฤต เงินเฟ้อสเปน ในศตวรรษที่ 16 ก็ทำให้ดินแดนแห่งวัวกระทิงเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมใหญ่เหมือนกัน

การปฏิวัติราคา คืออะไร?

การปฏิวัติราคา (Spanish Price Revolution) เป็นคำเรียกวิกฤติการณ์การเงินในจักรวรรดิสเปน (Spanish Empire) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ที่ส่งผลกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ รวมถึงยุโรปภาคพื้นทวีปโดยรวม ราคาสินค้าต่าง ๆ พุ่งทะยานจนรัฐไม่อาจควบคุมได้

สเปนเผชิญปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงอันเป็นผลมาจากการค้นพบแหล่งแร่ทองคำและเงินในโลกใหม่ (New World) หรือทวีปอเมริกาในครั้งนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่ว่าดำเนินต่อไปอีกกว่าศตวรรษ เศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจล่มสลาย ในขณะที่ดินแดนอื่นที่ปรับตัวได้ต่างพากันก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมอย่างเต็มตัว

การค้นพบสินแร่ในโลกใหม่ จุดเริ่มต้น วิกฤต เงินเฟ้อสเปน

นับตั้งแต่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาในค.ศ. 1492 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 (Ferdinand II) และกษัตริย์สเปนองค์ต่อๆ มาต่างไม่รอช้า พากันส่งกองทัพเข้าครอบครองดินแดนโลกใหม่ สเปนต้องการทวงคืนความยิ่งใหญ่หลังตกอยู่ใต้การปกครองของพวกมัวร์ (Moors) จากแอฟริกาเหนือนานกว่า 8 ศตวรรษ

จักรวรรดิสเปนถือกำเนิดในครั้งนั้น ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เหล่าผู้พิชิต (Conquistadors) ชาวสเปนออกล่าอาณานิคมโพ้นทะเลอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการยึดครองเม็กซิโกและอเมริกากลางในปี 1521 เปรูในปี 1533 และโบลิเวียในปี 1545

การล่าอาณานิคมไม่ได้เป็นไปเพื่อประกาศศักดาให้โลกรู้เท่านั้น แต่ดินแดนอีกฟากฝั่งมหาสมุทรยังนำมาซึ่งความมั่งคั่งมหาศาล ชาวสเปนยึดเหมืองทองจักรวรรดิแอซแท็ก (Aztec Empire) ในเม็กซิโกมาเป็นของตัวเอง ทว่าทองคำที่ค้นพบกลับเทียบไม่ได้กับภูเขาแร่เงินที่โปโตซี (Potosí) ในประเทศโบลิเวีย พวกเขาเรียกภูเขานี้ว่า เซอร์โร ริโก (Cerro Rico) ที่มีความหมายว่า ภูเขาแห่งความมั่งคั่ง ชื่อที่ตั้งขึ้นไม่ได้เกินกว่าความเป็นจริงแต่อย่างใด

สเปนตั้งโรงกษาปณ์ 2 แห่งในทวีปอเมริกาที่เม็กซิโกซิตี้และลิมา (Lima) เพื่อผลิตเหรียญเงินส่งกลับประเทศแม่ แต่ละปีชาวสเปนในโลกใหม่ส่งเหรียญเงินและทองกลับประเทศหลายร้อยตัน ดังตารางด้านล่าง

จำนวนแร่เงินจากทวีปอเมริกาที่หลั่งไหลเข้ามาในสเปน

ปี 1550 – 1599 17,000 ตัน

ปี 1600 – 1699 42,000 ตัน

ส่วน ปี 1700 – 1799 74,000 ตัน

นอกจากจะนำเหรียญเงินส่งกลับประเทศแล้ว เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในเม็กซิโกและเปรูยังกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอเมริกาเหนือและหมู่เกาะแคริบเบียนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิสเปน

ดังที่กล่าวถึงการพบแหล่งแร่ไปก่อนหน้า หากพูดว่าจักรวรรดิสเปนก้าวขึ้นมามีอำนาจเพราะสินแร่จากทวีปอเมริกาคงไม่ผิด สถานะของสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทำให้หลายประเทศต้องอิจฉา ทั้งราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 1 (Elizabeth I) และพระเจ้าเจมส์ (James I) แห่งอังกฤษ ต่างบัญชากองเรือตนให้เดินทางข้ามท้องน้ำแอตแลนติกเพื่อออกล่าอาณานิคม ทว่าไม่มีผู้นำอาณาจักรใดครอบครองแหล่งทำเงินเช่นเดียวกับสเปน

นอกจากทองคำและแร่เงินแล้ว ดินแดนอเมริกากลางและหมู่เกาะแคริบเบียนยังเป็นแหล่งปลูกพืชเมืองร้อนชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นยาสูบ ฝ้าย อ้อย ฯลฯ พืชเศรษฐกิจเหล่านี้นำรายได้มหาศาลสู่จักรวรรดิสเปนเช่นกัน ราชสำนักนำเงินที่ได้มาใช้บำรุงกองทัพเพื่อออกล่าดินแดนต่อไป ภายในเวลาไม่ถึงศตวรรษ จักรวรรดิสเปนก็มีอาณาเขตแผ่ขยายตั้งแต่ทวีปยุโรปไปจนถึงอเมริกา โอเชียเนีย และเอเชีย กลายเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกขณะนั้น

เงินเฟ้อสเปน 2

วิกฤต เงินเฟ้อสเปน ทำให้จักรวรรดิอ่อนแอ

แม้กลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ทว่าชนชั้นปกครองปกครองในสเปนกลับไม่ได้เตรียมการรับมือกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ จักรวรรดิจึงเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกฤติเงินเฟ้อในสเปน (Spanish Inflation) เริ่มขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 การหลั่งไหลเข้ามาของทองคำและเงินตราส่งผลให้ราคาสินค้าในสเปนเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

ไม่เพียงแต่ในสเปนเท่านั้น ทว่าเงินทองที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจยุโรปยังผลให้ประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ราคาสินค้าในสเปนพุ่งทะยานมากกว่า 3 เท่าตัว

การก้าวกระโดดของราคาสินค้าในครั้งนั้นถูกเรียกในเวลาต่อมาว่าการปฏิวัติราคาดังที่กล่าวถึงไปในข้างต้น ผู้ประกอบการในประเทศจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง ชาวสเปนจึงหันมาซื้อสินค้าต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า ส่งผลให้ในปีปีหนึ่ง เงินตราสเปนไหลออกนอกประเทศปริมาณมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น การล่าอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเลและสงครามชิงบัลลังก์ในจักรวรรดิยังนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งกำลังคนและสินทรัพย์

ตั้งแต่ปี 1650 เป็นต้นมา ราชสำนักสเปนที่ตระหนักถึงปัญหาที่ว่าได้ตรากฏหมายห้ามพ่อค้านำเงินออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ทว่านักธุรกิจยังคงหาช่องทางลักลอบขนเงินออกนอกประเทศโดยไม่หวั่นเกรงโทษทัณฑ์ ปัญหาเศรษฐกิจในสเปนที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขจึงนำจักรวรรดิไปสู่ความล่มสลายในที่สุด

จุดสิ้นสุดความรุ่งโรจน์

หากคิดว่าภาวะเงินเฟ้อในสเปนคือหายนะหนึ่งเดียวในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แล้วละก็ พี่ทุยคงต้องบอกว่ายังมีเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้น

ทุกวันนี้เราถูกสอนในโรงเรียนว่า แร่ธาตุคือทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (Nonrenewable Resources) ไม่อาจหาสิ่งใหม่มาแทนในเวลาอันสั้นได้ ทว่าชาวสเปนในยุคทองไม่ได้ร่ำเรียนเรื่องนี้เหมือนกับเรา

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ประกอบการเหมืองแร่ชาวสเปนต่างประสบปัญหาขาดทุนย่อยยับ สาเหตุเป็นเพราะแร่ทองและเงินที่มีจำนวนลดลง ชาวสเปนในครั้งนั้นไม่มีเทคโนโลยีการทำเหมืองที่ทันสมัย วิธีเดียวที่จะได้สินแร่คือการขุดถ้ำและภูเขาลึกลงไปเรื่อย ๆ ทำให้คนงานต้องเสี่ยงกับอันตรายจากดินถล่มและแก๊สพิษที่เกิดจากการทำเหมือง

แรกเริ่มเดิมที เจ้าอาณานิคมบังคับใช้แรงงานคนท้องถิ่นในอเมริกา ทว่าในเวลาต่อมา พวกเขาหันมาซื้อหาแรงงานทาสจากแอฟริกาที่มีร่างกายแข็งแรง สามารถทนต่องานหนักและสภาพแวดล้อมโหดร้ายได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม การทำงานบนภูเขาสูงในโบลิเวียส่งผลให้เหล่าทาสล้มตายจากโรคพื้นที่สูง (Altitude Sickness) และแก๊สพิษในเหมืองเงิน นอกจากนี้สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายทำให้ทาสชายหญิงป่วยไข้จนไม่อาจมีบุตรได้ เจ้าของเหมืองจึงต้องซื้อทาสใหม่ในราคาสูงมาแทนที่คนงานที่เสียชีวิต

ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายทาส บวกกับสินแร่ที่หาได้ยากขึ้นทุกวันทำให้ชาวสเปนมากมายละทิ้งกิจการเหมืองแร่ในทวีปอเมริกา เมื่อเงินทองที่เคยใช้จุนเจือเศรษฐกิจของประเทศหมดลง สเปนจึงตกอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิก็สูญสิ้นอำนาจ เปิดทางให้มหาอำนาจใหม่อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ก้าวขึ้นมามีบทบาทในสากลโลก

และในปี 1794 เมื่อประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาที่ต้องการผลิตเงินสกุลของตัวเอง พวกเขาก็ได้นำเหรียญเปโซ (Peso) ของสเปนมาเป็นต้นแบบในการผลิตเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลเงินสเปนที่คงอยู่ต่อไปหลายศตวรรษ

ผลกระทบจากการปฏิวัติราคา

ปัญหาเงินเฟ้อในสเปนก่อเกิดผลกระทบกับคนทุกชนชั้น ตั้งแต่ชาวนาไปจนถึงพระราชา ราชสำนักสเปนประสบปัญหาการเก็บภาษีที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับการทำสงครามในบต่างแดน ขุนนางท้องถิ่นและเจ้าของที่ดินเองก็ยากจนลงเพราะยังคงเก็บค่าที่ด้วยราคาเท่าเดิม เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับต้องเสียเงินมากมายเพื่อซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภค เกษตรกรเหล่านี้กลายมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

คนกลุ่มเดียวที่ได้ผลประโยชน์จากการปฏิวัติราคาคือพ่อค้า นักธุรกิจกลายมาเป็นชนชั้นนำในประเทศ ราคาข้าวของที่พุ่งทะยานมีแต่จะทำให้พวกเขามั่งคั่งขึ้นเท่านั้น บรรดาพ่อค้าหันมาลงทุนทำกิจการข้ามน้ำข้ามทะเล ศูนย์กลางการค้าโลกตะวันตกจึงเปลี่ยนจากทะเลเมดิเตอเรเนียนมาเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองท่าต่าง ๆ ผุดขึ้นในอเมริกาและแคริบเบียนเป็นดอกเห็ด

และเนื่องจากเรือสินค้ามุ่งหน้าสู่แอตแลนติกทุกๆ วัน อาชีพใหม่ในยุคนั้นอย่างโจรสลัดดักปล้นเรือสินค้าและทหารรับจ้างที่ถูกเรียกมาคุ้มกันกองเรือจึงเฟื่องฟูเหมือนกับในภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean ที่หลายคนชื่นชอบ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 18 จึงถือเป็นยุคทองของเหล่าโจรสลัด ควบคู่ไปกับกลุ่มพ่อค้าในโลกใหม่

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวไป การปฏิวัติราคาในสเปนได้นำพายุโรปเข้าสู่ศักราชใหม่ ระบบเจ้าขุนมูลนาย (Feudalism) ถูกทำลายด้วยอำนาจเงินตราของนักธุรกิจ ส่งผลให้โลกตะวันตกเข้าสู่ยุคทุนนิยมอย่างเต็มตัวในคริสต์ศตวรรษที่ 18

และแม้ว่าจักรวรรดิสเปนจะยืนยงมาจนถึงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทว่าก็ไม่อาจกลับมาผงาดในสากลโลกได้เหมือนเก่า จึงอาจกล่าวได้ว่า สินแร่ล้ำค่าอย่างทองคำและแร่เงินนำพาสเปนไปสู่ความยิ่งใหญ่และล่มสลายในเวลาเดียวกัน นี่จึงเป็นบทเรียนของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในยุคหลังไม่ให้เผลอลงทุนอย่างเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้ล้มละลายอย่างถอนตัวไม่กลับ


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สเต็ป เคอรี่ผู้ปลาบปลื้มใจจมนกอินทรีวอล์กออฟเพื่อชนะ
วิธีเลือก ไฟเพดาน
Dirk Nowitzki ดาราที่เกษียณแล้ว
วูล์ฟแฮมป์ตัน ขยี้ คลอปป์ ไม่นับประตู ลิเวอร์พูล
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://www.heavensgaterivercottages.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.moneybuffalo.in.th